จากการประชุมของผู้นำชาติมหาอำนาจ เพื่อหาแนวทางที่จะรักษาสันติภาพของโลกตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติลง และเมื่อสิ้นสุดสงครามแล้ว มีประเทศต่าง ๆผู้รักสันติได้ให้สัตยาบันที่จะร่วมกันเสริมสร้างความสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหา
เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม มนุษยธรรม และความมั่นคงของโลกโดยได้ก่อตั้งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ เรียกว่า องค์การสหประชาชาติขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 ปัจจุบัน (ค.ศ. 2008)องค์การนี้มีสมาชิกอยู่ทั่วโลกรวมกัน 192 ประเทศ
องค์การสหประชาชาติ
สมาชิกภาพ
ประเภทของสมาชิก มี 2 ประเภท
1.) สมาชิกดั้งเดิม ได้แก่
รัฐซึ่งเข้าร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ
ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และร่วมลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1945 โดยมีสมาชิกที่ร่วมเข้าประชุม 50 ประเทศ
กฎบัตรมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 จึงถือว่าทุกวันที่ 24 ตุลาคม เป็นวันสหประชาชาติ
2) สมาชิกที่เข้าภายหลัง ได้แก่
ประเทศที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ และสมัครเป็นสมาชิกภายหลังซึ่งต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไข
องค์การสหประชาชาติจะรับประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิก โดยพิจารณาจากเงื่อนไข ต่อไปนี้
1) เป็นประเทศที่รักสันติภาพ และยอมปฏิบัติตามข้อตกลงของสหประชาชาติ
ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทหรือขัดแย้งกัน
2) เป็นประเทศที่ยอมรับฟังความคิดเห็น และคำตัดสินต่าง ๆ ของสหประชาชาติ
ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทหรือขัดแย้งกัน
3) ต้องได้รับคะแนนเสียงจำนวน 2 ใน 3 ของสมัชชาใหญ่ โดยมีคณะมนตรีความมั่นคง ประกาศรับเป็นสมาชิกใหม่
วัตถุประสงค์
องค์การสหประชาชาติมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1. ธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงของโลก โดยการร่วมมือกัน
2. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อช่วยกันคลี่คลายและแก้ปัญหา
ทางด้านสังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิทางด้านมนุษยธรรม
3. เป็นศูนย์กลางพัฒนาความสัมพันธ์อันดี และประสานงานกันระหว่างประเทศ
สมาชิกเพื่อให้ดำเนินงาน บรรลุผลตามเป้าหมาย
การดำเนินงาน
องค์การสหประชาชาติมีหน่วยงานหรือองค์กรหลักอยู่ 6 องค์กร คือ
1. สมัชชาใหญ่ (General Assembly)
เป็นองค์กรหลักและเป็นที่ประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ
และเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทั้งปวง
2. คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council)
เป็นองค์กรหลักมีหน้าที่จัดการในเรื่องความมั่นคงและตัดสินวินิจฉัยข้อพิพาท
ของประเทศสมาชิก หรือถ้าประเทศใดก็ตามที่ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การ
สหประชาชาติจะเสนอกรณีพิพาทที่คุกคามสันติภาพของโลกต่อคณะมนตรีความ
มั่นคงเพื่อพิจารณาก็ย่อมทำได้
3. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council)
เป็นองค์กรหลักทางด้านการแก้ปัญหาและรับผิดชอบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม
วัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน
4. คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council)
เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบทางด้านการปกครองดูแลประเทศที่อยู่ในภาวะทรัสตี
คือ ประเทศที่ยังไม่ได้รับเอกราชที่สมบูรณ์ ซึ่งองค์การสหประชาชาติต้องให้ความ
คุ้มครองดูแล
5. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือ
ที่เรียกว่า ศาลโลกเป็นองค์กรทางด้านตุลาการขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน15 คน ศาลนี้มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศ
เนเธอร์แลนด์
6. สำนักเลขาธิการ (Secretariat)
เป็นองค์กรที่มีเจ้าหน้าที่ประจำ มีเลขาธิการเป็นหัวหน้า เลขาธิการคนปัจจุบัน คือ
บันคีมูน เป็นชาวเกาหลีใต้
ผลการปฏิบัติงาน
องค์การสหประชาชาติได้แสดงบทบาทและปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ได้สำเร็จลุล่วงหลายประการ ดังนี้
1. ด้านความขัดแย้ง องค์การสหประชาชาติได้จัดการเจรจาแก้ไขปัญหา หรือบางครั้งก็ใช้กองกำลังเข้าไปสนับสนุนในการแก้ไขปัญหากรณีพิพาท หรือความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติ ลัทธิทางการเมืองหรือดินแดนภายในประเทศ หรือระหว่างประเทศได้สำเร็จลุล่วงหลายกรณี เช่น ปัญหาสงครามระหว่างอาหรับและอิสราเอล ปัญหาอิรักปิดล้อม คูเวตเป็นต้น
และกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ในปัจจุบัน เช่น ปัญหาแคว้นแคชเมียร์ ระหว่างอินเดียและปากีสถานเหตุการณ์ ที่คอร์ฟูในแอฟริกาเป็นต้น
2. ด้านการลดอาวุธ การที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางได้ยกปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ประเทศใหญ่หรือประเทศมหาอำนาจได้สะสมกองกำลังและอาวุธไว้เป็นจำนวนมากย่อมทำให้เกิดความตึงเครียด ซึ่งองค์การสหประชาชาติก็ได้ตระหนักในปัญหานี้ จึงได้จัดให้มีการเจรจาเพื่อลดและควบคุมการใช้อาวุธ โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ของสองประเทศมหาอำนาจและได้มีการจัดทำสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (SALT) สนธิสัญญาว่าด้วยอาวุธชีวภาพและสารพิษ เป็นต้น
3. ด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งด้านเงินทุน และบุคลากร โดยให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพประชากรการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนอกจากนี้มีการจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ
เช่น ธนาคารโลก (World Bank)
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD )
องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นต้น
4. ด้านสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติเป็นองค์กรกลางที่จะต่อสู้และรักษาไว้ซึ่งสิทธิและอิสรภาพขั้นพื้นฐานของมนุษยชน และกำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชนโลกเพื่อส่งเสริมให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน ทางด้านเสรีภาพ ความปลอดภัยความเสมอภาคและสิทธิในการร่วมสมาคม การทำงาน การพักผ่อน การใช้เวลาว่างและการศึกษา
5. ด้านกฎหมาย จัดร่างกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นหลายฉบับทั้งนี้เพื่อรักษาความยุติธรรม ความเข้าใจอันดีและการรักษาผลประโยชน์ของประชาชาติ ซึ่งจัดดำเนินการโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่กำหนดขึ้นจากการประชุมสมัชชาใหญ่ และศาลโลก เช่นกฎหมายทางทะเล กฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต
กฎหมายว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายว่าด้วยแรงงานระหว่างประเทศ
6. ด้านความเป็นเอกราชของประเทศ ดินแดนที่อยู่ในความดูแลของ คณะมนตรีภาวะทรัสตี แห่งสหประชาชาติได้รับการปลดปล่อยเป็นเอกราชหลายประเทศ เช่น โตโก แคเมอรูน นาอูรู ปาปัวนิวกินี เป็นต้น

