กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก เป็นองค์การนานาชาติที่จัดตั้งขึ้น เพื่อความร่วมมือทางด้านนโยบายน้ำมันและช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและเศรษฐกิจแก่ประเทศสมาชิกองค์การนี้ก่อตั้ง เมื่อ ค.ศ. 1960 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ อิรัก อิหร่าน คูเวต ซาอุดิอาระเบีย เวเนซูเอลา กาตาร์ อินโดนีเซีย ลิเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตซ์ แอลจีเรีย ไนจีเรีย
วัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์การโอเปค
1. ป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันตกต่ำและสามารถเจรจาขายน้ำมันในเงื่อนไขที่ดีขึ้น
2. เพื่อเก็บภาษีเงินได้จากผลกำไรของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันในอัตราขั้นต่ำ 55%
3. เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการประกาศเพิ่มราคาน้ำมันทุกปี
4. เพื่อลดการผลิตหรืองดส่งน้ำมันดิบให้กับประเทศที่ช่วยเหลือหรือเข้าข้างอิสราเอล
5. เพื่อควบคุมหรือยึดครองบริษัทน้ำมันของต่างชาติ และโอนกิจการ การผลิตน้ำมันมาเป็นรัฐวิสาหกิจ
ผลการปฏิบัติงาน
ในปัจจุบันโอเปคเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลสูงมากทั้งต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ แต่ด้วยเหตุที่ประเทศสมาชิกของกลุ่มโอเปคมีสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมแตกต่างกัน ทั้งยังมีปริมาณน้ำมันสำรองไม่เท่ากันด้วย การกำหนดราคาและโควตาการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคในระยะหลังมานี้ มักไม่มีเอกภาพ กล่าวคือประเทศคูเวค กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่มาก และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สามารถปฏิบัติตามมติของโอเปคได้ แต่ประเทศอิหร่านแม้มีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่มาก แต่หลังสงครามกับอิรักแล้วต้องลอบผลิตน้ำมันออกจำหน่ายเกินโควตาที่โอเปคให้ไว้ เพื่อนำเงินมาฟื้นฟูบูรณะประเทศ
ประเทศอิรัก มีแหล่งน้ำมันสำรองมากประเทศหนึ่ง แต่ได้รับความเสียหายจากสงครามกับอิหร่านและพ่ายแพ้สงครามในการปิดล้อมคูเวต ซึ่งสหประชาชาติได้ออกมาตรการต่างๆ มากำหนด ทำให้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันได้อย่างจำกัด ส่วนประเทศไนจีเรียมีปริมาณน้ำมันสำรองน้อย เป็นประเทศยากจน และมีจำนวนประชากรมาก จึงต้องผลิตน้ำมันเกิดโควตาและจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าที่โอเปคกำหนด
กิจกรรมสำคัญที่โอเปคดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา คือ การปรับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งได้กระทำหลายครั้ง จนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออกเหล่านี้มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น และได้นำเงินตราเหล่านี้ไปใช้เสริมสร้างความมั่นคงและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกัน การให้สวัสดิการและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นต้น
นอกจากนี้ สมาชิกของกลุ่มโอเปคยังได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศอาหรับที่มิได้เป็นสมาชิกของโอเปค และประเทศอื่นที่ประชากรบางส่วนนับถือศาสนาอิสลาม
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC
